การรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ในโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์

จากการที่เครือข่ายครู ฯ ได้ลงพื้นที่จัดกิจกรรมกับโรงเรียนต่าง ๆ ทำให้พบความหลากหลายของกิจกรรมในโรงเรียนที่มีบริบทแตกต่างกัน ประเด็นที่นำเสนอในครั้งนี้คือกิจกรรมดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้เลิกสูบบุหรี่ในโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ 2 แห่งคือ  โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงใหม่  อ.แม่ริม  จ.เชียงใหม่  โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์บางกรวย อ.บางกรวยจ.นนทบุรี

ครูฌาณทัศน์ พรมสาส์น ครูแกนนำจากโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงใหม่ อ.แม่ริม  จ.เชียงใหม่ เล่าให้ฟังว่า นักเรียน 90% จะอยู่หอพัก และนักเรียนส่วนใหญ่จะเป็นชาวเขา มีทั้งกะเหรี่ยง ม้ง มูเซอ ไทยใหญ่ ฯลฯ ซึ่งพ่อแม่ของนักเรียนมักจะสูบบุหรี่ นักเรียนชาวเขาที่สูบบุหรี่ที่บ้าน เมื่อเข้ามาอยู่หอพักจะถูกบังคับโดยสภาพแวดล้อมทำให้ไม่มีโอกาสได้สูบบุหรี่ เพราะครูจะได้กลิ่น หรือเพื่อนนักเรียนคนอื่นจะบอกให้ครูทราบ นอกจากนี้ ครูผู้ทำหน้าที่ดูแลนักเรียน ไม่มีใครสูบบุหรี่เลย

ที่โรงเรียนจะมีกิจกรรมกีฬาและการฝึกอาชีพ ทำให้นักเรียนได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ รวมถึงโอกาสที่นักเรียนจะเข้าถึงบุหรี่ก็ทำได้ยาก เนื่องจากนักเรียนที่อยู่หอพักจะออกนอกโรงเรียนได้ยาก ร้านค้าจากภายนอกไม่สามารถเข้ามาขายได้ นักเรียนรับประทานอาหารในโรงเรียนเท่านั้น จึงไม่มีโอกาสไปซื้อของข้างนอกได้ ร้านค้าในโรงเรียนคือร้านสหกรณ์ซึ่งไม่มีบุหรี่ขาย นักเรียนจะออกนอกโรงเรียนในเวลาราชการต้องขออนุญาตครูเวร  และสิ่งที่ทำให้การดำเนินการโรงเรียนปลอดบุหรี่ในโรงเรียนเป็นไปอย่างราบรื่น คือผู้บริหารไม่สูบบุหรี่และให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาก รวมถึงชุมชนเองก็ให้งบประมาณมาดำเนินการและให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมรณรงค์ด้วย

ส่วนที่โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์บางกรวย จ.นนทบุรี ครูสุชญา เลี่ยมเจริญ เล่าให้ฟังว่า นักเรียนของโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์บางกรวย มาจากกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา 10 ประเภท มีความแตกต่างกันทั้งพื้นฐานทางครอบครัว การอบรมเลี้ยงดู การปลูกฝังค่านิยม เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ และระดับสติปัญญา สภาพของการอยู่ประจำแบบกินนอนอยู่กันแบบพี่น้อง  มีครูทำหน้าที่เปรียบเสมือนพ่อแม่  ทำให้ง่ายต่อการดูแลเอาใจใส่และการสอดส่องเพื่อช่วยให้นักเรียนลด ละ เลิกบุหรี่ได้ง่ายกว่าเด็กนักเรียนแบบเดินทางไป-กลับ การจัดทำโครงการโรงเรียนปลอดบุหรี่ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากฝ่ายบริหาร ครูหอพัก  ครูเวร  ที่คอยดูแลให้คำปรึกษานักเรียนที่ต้องการเลิกบุหรี่ ครูจะเตรียมมะนาวและหมากฝรั่งไว้ให้นักเรียน นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมดนตรี กีฬา ช่วยลดความเครียดและให้นักเรียนได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์  เวลาที่นักเรียนใช้ในการอยู่ในโรงเรียน 24 ชั่วโมง จึงผ่านไปอย่างมีคุณค่า  การที่นักเรียนเลิกสูบบุหรี่ได้ ทำให้ได้รับการยอมรับจากกลุ่มเพื่อน ซึ่งครูจะขอให้ช่วยดูแลรุ่นน้องที่ยังเลิกไม่ได้ต่อไป

จากกรณีศึกษาทั้ง 2 โรงเรียน ทำให้ได้ข้อคิดว่า  การดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้เลิกสูบบุหรี่ในโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ มีจุดแข็งคือ การเป็นโรงเรียนประจำ ครูผู้ดูแลเปรียบเสมือนพ่อแม่ที่สามารถดูแลได้อย่างใกล้ชิดและเป็นต้นแบบของการเป็นผู้ไม่สูบบุหรี่ รวมถึงมีเวลาที่จะพบนักเรียนเป็นกลุ่มได้บ่อยครั้ง สามารถใช้รูปแบบของการดูแล ติดตาม  พูดคุย  ให้กำลังใจ ช่วยแก้ไขในปัญหาอุปสรรคที่เด็กนักเรียนแต่ละคนมีได้ และการแยกเด็กนักเรียนออกจากครอบครัวที่สูบบุหรี่เป็นประจำ มาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เข้าถึงบุหรี่ได้ยาก ก็เป็นตัวช่วยที่สำคัญที่ทำให้นักเรียนเลิกบุหรี่ได้สำเร็จ