เครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่

วันนี้ (29 มิถุนายน 2565) เครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ โดยการสนับสนุนของสํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานเวทีเชิดชูเกียรติ  10  โรงเรียนต้นแบบปลอดบุหรี่และแอลกอฮอล์ พื้นที่กรุงเทพฯ   ณ ห้องราชเทวี 2 โรงแรมเอเชีย (เขตราชเทวี กรุงเทพฯ)

นางสุวิมล จันทร์เปรมปรุง คณะกรรมการบริหารเครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ เปิดเผยว่าเครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ ซึ่งเป็นเครือข่ายของครูที่มีจิตอาสา มุ่งเน้นรณรงค์สร้างค่านิยมที่ไม่สูบบุหรี่ในสังคมไทย และปกป้องเยาวชนจากการสูบบุหรี่  โดยขับเคลื่อนงานโรงเรียนปลอดบุหรี่มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 โดยการสนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีเป้าหมายในการสนับสนุนให้เกิด “โรงเรียนปลอดบุหรี่ต้นแบบและแอลกอฮอล์” ที่มีการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม  ซึ่งไม่เพียงเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนดให้โรงเรียนเป็นเขตปลอดบุหรี่ทั้งหมดแล้ว  ยังเป็นการปกป้องเยาวชนไม่ให้เริ่มสูบบุหรี่อันเป็นประตูสู่ยาเสพติดที่ร้ายแรงยิ่งขึ้น  ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานครนั้น มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ได้ดำเนินงานโรงเรียนปลอดบุหรี่มาโดยตลอด และเมื่อปี พ.ศ.2564 เครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ได้ดำเนินงาน “โครงการโรงเรียนปลอดบุหรี่ : กรุงเทพมหานคร” เพื่อสนับสนุนให้โรงเรียนต่าง ๆ ขับเคลื่อนงานโรงเรียนปลอดบุหรี่ด้วยแนวทาง 7 มาตรการเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่  โดยได้รับความร่วมมือจากองค์กรต้นสังกัด ได้แก่ สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร สำนักงานเขตพื้นที่ที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานครเขต 1 และ เขต 2 ส่งผลให้เกิดเครือข่ายโรงเรียนปลอดบุหรี่พื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 74 โรงเรียน

 

นางสุวิมล กล่าวเพิ่มเติมว่า  เครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ ได้ขับเคลื่อนโครงการจุดจัดการเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ขึ้น  โดยกรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่เป้าหมายสำคัญ และขับเคลื่อนการทำงานโรงเรียนปลอดบุหรี่ โดยใช้ 7 มาตรการเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ ซึ่งใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนเพื่อป้องกัน ดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้ห่างไกลจากบุหรี่อย่างเป็นระบบ โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ โรงเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร  ใน 4 สังกัดหลัก ได้แก่ 1) สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร  2) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 1 (สพม.กท.1) 3) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 2 (สพม.กท.2) และ 4) สังกัดสำนักงานพุทธศาสนา (โรงเรียนพระปริยัติธรรม) โดยในการดำเนินโครงการระยะที่ 1 นี้ มีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 74 โรงเรียน และมี 10 โรงเรียน  ที่ก้าวเข้าสู่การเป็นโรงเรียนต้นแบบปลอดบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งโรงเรียน 10 แห่งที่ได้รับรางวัลนี้ ได้มีการพัฒนายกระดับและผ่านเกณฑ์ประเมินสู่การเป็นโรงเรียนต้นแบบปลอดบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีจุดเด่นชัดด้านการพัฒนาจนเกิดนวัตกรรมเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ คือ  เกิดการขับเคลื่อนงาน กิจกรรม ผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือกระบวนการใหม่ ๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ โดย การทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยวิธีใหม่ ๆ ซึ่งแตกต่างจากวิธีปฏิบัติเดิมที่เคยทำมาก่อน และเกิดการพัฒนาต่อยอดจากเดิมด้านการควบคุมยาสูบและแอลกอฮอล์ในโรงเรียน ได้แก่

สังกัดกรุงเทพมหานคร

1. โรงเรียนวัดปากบ่อ สำนักงานเขตสวนหลวง มีผลงานเด่นคือ มีนวัตกรรมเรื่องบุหรี่ที่เกิดจากการสอดแทรกในการเรียนการสอนและมีการทดลองใช้กับผู้สูบบุหรี่ ได้แก่ นวัตกรรมชาโปร่งฟ้าบอกลาบุหรี่ และคุกกี้ anti-smoking

2. โรงเรียนวัดพระเชตุพน สำนักงานเขตพระนคร มีผลงานเด่นคือ ฤๅษีดัดตนช่วยแก้อาการอยากสูบบุหรี่ สมุนไพรช่วยเลิกบุหรี่ ซึ่งได้สอนให้แก่นักเรียนและได้ไปถ่ายทอดให้กับผู้ปกครองที่สูบบุหรี่ และมีการสอนนวดกดจุดเลิกบุหรี่ โดยให้นักเรียนไปนวดให้ผู้ปกครองที่สูบบุหรี่

3. โรงเรียนวัดสุวรรณคีรี สำนักงานเขตบางกอกน้อย มีผลงานเด่นคือ มีการสอนหลักสูตรเกราะป้องกันชีวิต ใช้สอนให้นักเรียนรู้จักการปฏิเสธหรือหน้าที่ของคำว่า “ไม่” เป็นวิธีสำคัญที่สุดวิธีหนึ่งที่จะช่วยป้องกันนักเรียนจากภัยรูปแบบต่างๆ ซึ่งบุหรี่เป็นภัยใกล้ตัวที่นักเรียนพบเจอทั้งในบ้านและชุมชน

4. โรงเรียนวัดอัมพวา สำนักงานเขตบางกอกน้อย มีผลงานเด่นคือ บรรยากาศปลอดบุหรี่ ณ โรงเรียนวัดอัมพวา

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 1

1. โรงเรียนจันทร์ประดิษฐารามวิทยาคม มีผลงานเด่นคือ ส่งเสริมให้นักเรียนทำกิจกรรมรณรงค์อย่างต่อเนื่อง

2. โรงเรียนทวีธาภิเศก มีผลงานเด่นคือ โครงการตาสับปะรด แจ้งเบาะแส เฝ้าระวังพฤติกรรมการสูบบุหรี่ ด้วยการนำ QR แจ้งเบาะแส ไปติดในชุมชน เพื่อให้ผู้ปกครองและชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลและเฝ้าระวังพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของนักเรียน

3. โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล มีผลงานเด่นคือ นักเรียนแกนนำกลุ่ม We care ถ่ายทอดการทำงานรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ส่งต่อรุ่นสู่รุ่น

4. โรงเรียนมัธยมวัดหนองแขม มีผลงานเด่นคือ นักเรียนแกนนำที่สามารถจัดกิจกรรมสร้างกระแสรณรงค์ในโลกออนไลน์ แม้อยู่ภายใต้สถานการณ์โควิด และสามารถเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้เรื่องบุหรี่แก่น้องนักเรียนใหม่

5. โรงเรียนศรีอยุธยา ในพระอุปถัมภ์ฯ มีผลงานเด่นคือ การดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้เลิกบุหรี่ แบบ Case Conference : ให้คำปรึกษาแก่นักเรียนที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ทางระบบออนไลน์(ภายใต้สถานการณ์โควิดที่เด็กเรียนออนไลน์ 100%)

6. โรงเรียนศีลาจารพิพัฒน์ มีผลงานเด่นคือ นักเรียนแต่งเพลงรณรงค์ไม่สูบบุหรี่และยาเสพติด โดยมีครูเป็นพี่เลี้ยง

ด้านนางชุลีพร  วงษ์พิพัฒน์ รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา  กล่าวว่า  “ดิฉันในฐานะตัวแทนของท่านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ทางเครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ได้ให้เกียรติเชิญทางกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในการเปิดงานเชิดชูเกียรติ 10 โรงเรียนต้นแบบปลอดบุหรี่และแอลกอฮอล์ พื้นที่กรุงเทพฯ และมอบโล่รางวัลโรงเรียนต้นแบบปลอดบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ในครั้งนี้ และในฐานะที่ท่านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  ซึ่งมีตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบกรุงเทพมหานคร ตามที่กฎหมายกำหนดไว้นั้น เราก็สนับสนุนและมีนโยบายให้โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ต้องปลอดบุหรี่และแอลกอฮอล์ รวมถึงปลอดกัญชาทุกรูปแบบ ตามที่ท่านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้แถลงไว้  และคาดหวังว่าหากทุกโรงเรียนได้ดำเนินงานตาม 7 มาตรการเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่  ซึ่งเป็นมาตรการที่เข้มแข็ง และเข้มข้นที่สุดที่จะช่วยปกป้องเยาวชนจากการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า  ป้องกันการเกิดนักสูบ นักดื่มหน้าใหม่ได้ เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นด่านแรกที่จะช่วยป้องกันเด็กและเยาวชนไม่ให้ก้าวไปสู่สิ่งเสพติดชนิดอื่นได้  อีกทั้งยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนในโรงเรียน และสร้างการมีส่วนร่วมของครู นักเรียน และบุคลการทางการศึกษาให้หันมาร่วมมือร่วมใจ  จัดกิจกรรมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ในโรงเรียนให้เป็นรูปธรรมและเข้มข้นขึ้น นางชุลีพร กล่าวทิ้งท้าย

 

สอดคล้องกับข้อมูลของ รศ.ดร.จักรพันธ์ เพ็ชรภูมิ อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่เผยผลการสำรวจจากการวิจัย เรื่อง ผลการสำรวจโอกาสเสี่ยงในการสูบบุหรี่ของนักเรียนในภูมิภาคของประเทศไทย(Susceptibility to smoking and determinants among never-smoking high school students: A representative nationwide study in Thailand)  ที่ทำร่วมกับคณะ สนับสนุนโดย ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.)  เปิดเผยว่า การสำรวจนักเรียนระดับชั้น ม.2  จาก 12 จังหวัด ทุกภูมิภาคของไทย จำนวน 3,156 คน พบว่า มีนักเรียน 72.4% ระบุว่าเรียนอยู่ในโรงเรียนที่จัดกิจกรรมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่แบบเป็นประจำ ในขณะที่เหลืออีก 27.6% ระบุว่าเรียนอยู่ในโรงเรียนที่จัดกิจกรรมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่แบบนาน ๆ ครั้ง    โดยโรงเรียนที่จัดกิจกรรมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่แบบเป็นประจำ มีนักเรียนที่อยากทดลองสูบบุหรี่ 13.6% ในขณะที่โรงเรียนที่จัดกิจกรรมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่แบบนาน ๆ ครั้งมีนักเรียนที่อยากทดลองสูบบุหรี่ 23.9%  สรุปได้ว่า โรงเรียนที่จัดกิจกรรมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่แบบเป็นประจำมีนักเรียนที่อยากทดลองสูบบุหรี่น้อยกว่าโรงเรียนที่จัดกิจกรรมแบบนาน ๆ ครั้ง เกือบ 2 เท่า  เช่นเดียวกับการได้รับข้อความรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ทางโทรทัศน์หรืออินเตอร์เน็ตที่พบว่า นักเรียนในกลุ่มที่พบเห็นข้อความรณรงค์ไม่สูบบุหรี่แบบเป็นประจำมีสัดส่วนของคนที่อยากทดลองสูบบุหรี่น้อยกว่านักเรียนในกลุ่มที่พบเห็นข้อความรณรงค์ไม่สูบบุหรี่แบบนาน ๆ ครั้ง เกือบ 2 เท่า 

รศ.ดร.จักรพันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า  ดังนั้น การจัดกิจกรรมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ในโรงเรียนโดยเน้นกิจกรรมที่สร้างการรับรู้ถึงนักเรียนโดยตรงเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง  และการเผยแพร่ข้อความรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ทางโทรทัศน์ และอินเตอร์เน็ต จึงช่วยป้องกันนักเรียนไม่ให้อยากทดลองสูบบุหรี่ได้จริง 

ด้าน ศ.นพ.ประกิต  วาทีสาธกกิจ  ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่  กล่าวว่า    ากเปรียบเทียบข้อมูลอัตราการสูบบุหรี่ ในกลุ่มเยาวชน อายุ 15-19 ปีจากสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี พ.ศ. 2564 อัตราการสูบบุหรี่เป็นร้อยละ 6.2 ซึ่งลดลงจาก ปีพ.ศ.2560 ที่มีอัตราการสูบบุหรี่เป็นร้อยละ 9.7  ขณะที่จำนวนนักสูบหน้าใหม่เมื่อปี พ.ศ.2560   เท่ากับ 447,084 คน  ส่วนในปี พ.ศ.2564  จำนวนนักสูบหน้าใหม่ลดลงเหลือ เท่ากับ 155,813 คน ซึ่งคุณครูทุกท่านมีส่วนที่ทำให้ภาพรวมอัตราการสูบบุหรี่ของเยาวชนเราลดลงไป   และหากทุกโรงเรียนทั่วประเทศ กำหนดนโยบายการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามแนวทาง 7 มาตรการเพื่อสถานศึกษาปลอดบุหรี่ เพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ในกลุ่มเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา ร่วมกับการพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน และกิจกรรมนอกหลักสูตร เกี่ยวกับความรู้เรื่องโทษพิษภัยของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง หากโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร  และโรงเรียนภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ  สนับสนุนและเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องให้แก่สังคมเกี่ยวกับ 9 เหตุผลที่ประเทศไทยต้องคงมาตรการห้ามนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ตลอดทั้งสร้างการรับรู้ที่ถูกต้องให้แก่ผู้บริหารสถานศึกษา ครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน มีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโทษพิษภัย อันตรายและผลกระทบของการสูบบุหรี่บุหรี่และไฟฟ้า ร่วมกับการรู้เท่าทันกลยุทธ์ทางการตลาดของธุรกิจยาสูบ  ก็จะทำให้อัตราการสูบบุหรี่ของเด็กและเยาวชน ลดลงได้

สำหรับโรงเรียนที่ต้องการข้อมูลเกี่ยวกับการเคลื่อนการทำงานโรงเรียนปลอดบุหรี่ โดยใช้ 7 มาตรการเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ http://www.smokefreeschool.net/ หรือติดตามความเคลื่อนไหว  และกิจกรรมต่าง ๆ ได้ที่เพจ https://www.facebook.com/smokefreeschool  และหากต้องการขอสื่อรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เพื่อใช้จัดกิจกรรมในโรงเรียนสามารถขอรับสื่อฟรีได้ที่ www.smokefreezone.or.th        หรือติดต่อที่โทรศัพท์หมายเลข 0-2278-1828