เกี่ยวกับเรา

ตามพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ที่มีผลบังคับใช้ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 กำหนดให้โรงเรียนซึ่งเป็นสถานศึกษาต่ำกว่าระดับอุดมศึกษาเป็นสถานที่สาธารณะที่เป็นเขตปลอดบุหรี่ทั้งหมดและให้ผู้จัดการ ผู้ควบคุมหรือผู้รับผิดชอบ (ในบริบทของโรงเรียนหมายถึงผู้อำนวยการโรงเรียน) ต้องจัดให้โรงเรียนเป็นสถานที่สาธารณะที่ปลอดบุหรี่ทั้งหมด ทั้งนี้ หากไม่ดำเนินการต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท และห้ามมิให้ผู้ใดสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

  • ปี พ.ศ. 2548

    เครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ (Teachers Networking for Smoke-Free Schools) เกิดขึ้นเมื่อปี 2548 เริ่มจากมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ โดยการสนับสนุนของสำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รับสมัครครูที่สนใจเข้าร่วมอบรมพัฒนาศักยภาพให้เป็นครูนักรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ มีครูในเขตกรุงเทพ ฯ สนใจเข้าร่วม 12 โรงเรียน ถือเป็นเครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ รุ่นที่ 1 ภายหลังการอบรม แต่ละแห่งได้รณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ที่โรงเรียนและประชุมพบปะกันในวันหยุดเพื่อคิดหาวิธีการต่าง ๆ ที่จะทำให้โรงเรียนปลอดบุหรี่

  • ปี พ.ศ. 2550

    ใช้เวลาสะสมองค์ความรู้และประสบการณ์อยู่ 2 ปี จนกระทั่งปี 2550 เครือข่ายครู ฯ ร่วมกันจัดทำหนังสือหลักสูตรโรงเรียนปลอดบุหรี่ เพื่อให้ครูได้นำไปใช้สอนในโรงเรียน และส่งมอบให้ ดร.จรวยพร ธรณินทร์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ขยายผลสู่โรงเรียนทุกแห่ง

    ในขณะเดียวกันก็พบว่า การทำงานรณรงค์ต้องมีนักเรียนร่วมด้วยจึงจะประสบผลสำเร็จ เพราะนักเรียนเป็นคนกลุ่มใหญ่ในโรงเรียน ที่มีพลังทั้งทางกายและพลังความคิดที่จะช่วยคุณครูหาวิธีการที่แปลกใหม่ที่จะสื่อสารกับนักเรียนด้วยกัน กับผู้ปกครอง หรือชุมชนได้เป็นอย่างดี จึงได้ร่วมกันเขียนหนังสือที่ถอดบทเรียนจากประสบการณ์การทำงานของเครือข่ายครู ฯ ที่นักเรียนมีบทบาทเคียงข้างไปกับครู เพิ่มอีก 3 เล่ม ได้แก่ คู่มือพัฒนาศักยภาพนักเรียนแกนนำเพื่อการไม่สูบบุหรี่ คู่มือผลิตสื่อสร้างสรรค์รณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และคู่มือครูช่วยนักเรียนให้เลิกสูบบุหรี่

    ในด้านการแสวงหาครูร่วมอุดมการณ์ ปี 2550 ได้จัดอบรมครูในเขตกรุงเทพ ฯ และปริมณฑล เพิ่มอีก 2 รุ่น ทำให้มีโรงเรียนในเครือข่ายเพิ่มเป็นกว่า 50 โรงเรียน

  • ปี พ.ศ. 2551

    เริ่มขยายเครือข่ายสู่ภูมิภาค นำร่องในจังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา และจันทบุรี มีโรงเรียนเป็นเครือข่ายเพิ่มอีก 120 แห่ง ซึ่งแต่ละแห่งดำเนินการในโรงเรียนตนเอง 1 ปี และนำผลงานมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำมาสู่การเขียนเป็นหนังสือถอดบทเรียนโรงเรียนปลอดบุหรี่ ในต้นปี 2553 ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการทำงานเพื่อให้โรงเรียนเป็นเขตปลอดบุหรี่ตามกฎหมาย รวมถึงสื่ออื่น ๆ อีกจำนวนหนึ่ง ที่ช่วยเอื้อให้การดำเนินงานของครูสะดวกยิ่งขึ้น

  • ปี พ.ศ. 2553

    เครือข่ายครู ฯ ได้เปลี่ยนพื้นที่ดำเนินงานจากจันทบุรี เป็น ชลบุรี และได้ผลักดันให้เกิดคณะทำงานในพื้นที่จังหวัดนำร่อง คือ เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา ชลบุรี และกรุงเทพฯ เพื่อวางแผนและขับเคลื่อนงานในจังหวัดตนเอง โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมทุกโรงเรียนในจังหวัด และร่วมกับหน่วยงานด้านรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ของจังหวัด ดำเนินการอย่างจริงจังให้โรงเรียนและชุมชนโดยรอบปลอดบุหรี่

    นอกจากนี้ ยังเสริมสร้างศักยภาพคณะทำงานของแต่ละจังหวัด ด้วยการจัดอบรมพัฒนาศักยภาพสู่การเป็นวิทยากรเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ เพื่อให้สามารถจัดกิจกรรมต่าง ๆ ภายในพื้นที่ตนเองได้

  • ปี พ.ศ. 2554

    จังหวัดนำร่องทุกแห่ง คือ เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา และชลบุรี ได้จัดกิจกรรมเพื่อขยายผลลงสู่โรงเรียนระดับประถมศึกษาและขยายโอกาสทางการศึกษา โดยนำร่องในเขตพื้นที่การศึกษา 1 แห่ง ( 3 – 5 อำเภอ) ในอนาคตมีแผนจะขยายให้ครอบคลุมทุกเขตพื้นที่การศึกษาในแต่ละจังหวัด

  • ปี พ.ศ. 2555

    ได้ร่วมกับสำนักงานป้องกันและบำบัดการติดยาเสพติด สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ โดยเชิญผู้บริหารสถานศึกษาและครูจากโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษาและขยายโอกาสทางการศึกษา รวมกว่า 800 คน เข้าร่วมรับองค์ความรู้เรื่องบุหรี่และแนวทางการดำเนินงานเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ รวมถึงป้ายพลาสติกโรงเรียนเป็นเขตปลอดบุหรี่ตามกฎหมายและสื่ออื่น ๆ

    ในด้านการผลักดันนโยบายผ่านต้นสังกัดของโรงเรียน เครือข่ายครู ฯ ได้เข้าพบ ศ.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อผลักดันมาตรการในการปกป้องเยาวชนจากพิษภัยบุหรี่ การสร้างสถานศึกษาปลอดบุหรี่ รวมถึงการสนับสนุนมาตรา 5.3 แห่งอนุสัญญาควบคุมยาสูบองค์การอนามัยโลก ที่ห้ามหน่วยงานราชการรับการสนับสนุนจากธุรกิจยาสูบ จนนำมาสู่การออกประกาศกระทรวงศึกษาธิการ และจัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและภาคีเครือข่ายนักรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมตามประกาศกระทรวง ฯ อย่างเป็นรูปธรรม

    ตลอดการทำงานที่ผ่านมา เครือข่ายครู ฯ ได้จัดทำเว็บไซต์ www.smokefreeschool.net ขึ้น เพื่อเป็นหนึ่งช่องทางในการสื่อสารภายในเครือข่าย รวมทั้งประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ผลงานสู่สาธารณะ รวมถึงการเปิดเฟซบุ๊คแฟนเพจ เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการติดตามความเคลื่อนไหวของเครือข่ายครู ฯ (http://www.facebook.com/SmokeFreeSchool)

    นอกจากนี้ เครือข่ายครู ฯ ยังได้มีการถอดบทเรียนการดำเนินงานเพื่อเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ของจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดสงขลา จังหวัดชลบุรี และกรุงเทพมหานคร จัดทำเป็นหนังสือเพื่อเผยแพร่เป็นแนวทางแก่โรงเรียนอื่น ๆ ที่สนใจการดำเนินงานโรงเรียนปลอดบุหรี่

  • ปี พ.ศ. 2556

    ขยายผลการดำเนินงานโรงเรียนปลอดบุหรี่ไปยังโรงเรียนใน 8 จังหวัดนำร่องใหม่ คือ เชียงราย พิษณุโลก นครราชสีมา มหาสารคาม อุบลราชธานี นนทบุรี ระยอง และสุราษฎร์ธานี รวม 482 แห่ง และร่วมกับสำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการดำเนินงานโรงเรียนปลอดบุหรี่ ที่มีเป้าหมายขยายการดำเนินงานโรงเรียนปลอดบุหรี่ไปยังโรงเรียนมัธยมศึกษาสังกัด สพฐ.จำนวน 469 แห่งทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาเกณฑ์มาตรฐานการรับรองโรงเรียนปลอดบุหรี่และโรงเรียนปลอดบุหรี่ต้นแบบ พร้อมแบบฟอร์มประเมินตนเอง เพื่อเป็นแนวทางที่ให้โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการได้ประเมินการดำเนินงานของโรงเรียนในเบื้องต้นเพื่อค้นหาจุดที่ควรจะต้องพัฒนาการดำเนินงานให้ดียิ่งขึ้น

  • ปี พ.ศ. 2557

    เครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่สนับสนุนวิทยากร องค์ความรู้ และชุดสื่อรณรงค์ให้กับโรงเรียนในภาคีเครือข่ายของสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว(สำนัก 4 สสส.) ซึ่งเป็นเครือข่ายเยาวชนพลยุติธรรมที่เข้าร่วมโครงการโรงเรียนปลอดบุหรี่ และสนับสนุนวิทยาลัยอาชีวศึกษาเอกชนที่ ที่เข้าร่วมโครงการอาชีวศึกษาเอกชนต้นแบบปลอดบุหรี่ รวมทั้งร่วมเป็นคณะทำงานในการนิเทศและสนับสนุนให้วิทยาลัยอาชีวศึกษาเอกชนแต่ละแห่งดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และร่วมกับศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. ต่อยอดมาตรการขับเคลื่อนงานโรงเรียนปลอดบุหรี่กับโรงเรียนในเขตภาคกลางและภาคตะวันตก ด้วยการจัดอบรมพัฒนาศักยภาพผู้บริหารสถานศึกษาและครู จำนวน 2 รุ่น แบ่งเป็นรุ่นที่ 1 เป็นผู้บริหารสถานศึกษาและครูจากโรงเรียนระดับประถมศึกษาและขยายโอกาสทางการศึกษาในสังกัดเทศบาล โรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ จำนวน 44 คน จาก 23 โรงเรียน และรุ่นที่ 2 โรงเรียนระดับมัธยมศึกษาและวิทยาลัยอาชีวศึกษา จำนวน 50 คน จาก 27 โรงเรียน/วิทยาลัย อีกทั้งร่วมกับสำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ สนับสนุนวิทยากร องค์ความรู้ และชุดสื่อรณรงค์ให้เกิดการขับเคลื่อนงานโรงเรียนปลอดบุหรี่ในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ในปี พ.ศ.2557 จำนวน 604 แห่ง และร่วมลงพื้นที่ติดตามผลเพื่อให้ข้อเสนอแนะในการดำเนินงานแก่โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ

  • ปี พ.ศ. 2558

    มีโรงเรียนปลอดบุหรี่ต้นแบบที่สามารถดำเนินการตามแนวทางจนเกิดเป็นผลงานอย่างเป็นรูปธรรม นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขึ้นในพื้นที่การทำงานทั้งหมด 13 จังหวัด ทั้งหมด 231 โรงเรียน ซึ่งพร้อมเป็นแหล่งเรียนรู้การดำเนินงานโรงเรียนปลอดบุหรี่จากโรงเรียนหรือหน่วยงานอื่น ๆ ทั่วประเทศ โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด คณะครูและผู้บริหารจากโรงเรียนใกล้เคียง ฯลฯ เพื่อร่วมเป็นคณะทำงานในการติดตามและเยี่ยมชม ให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนาให้เกิดเป็นโรงเรียนปลอดบุหรี่ต้นแบบ และได้รับการประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงานผ่านทางสื่อต่างๆ อีกทั้งเกิดครูวิทยากรที่สามารถเผยแพร่องค์ความรู้และแนวทางการดำเนินงานโรงเรียนปลอดบุหรี่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ 8 จังหวัดนำร่องใหม่ ร่วมกับสำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ สนับสนุนวิทยากร องค์ความรู้ และชุดสื่อรณรงค์ให้เกิดการขับเคลื่อนงานโรงเรียนปลอดบุหรี่ในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) จำนวน 1,758 แห่ง และร่วมลงพื้นที่ติดตามผลเพื่อให้ข้อเสนอแนะในการดำเนินงานแก่โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ มีจัดอบรมพัฒนาศักยภาพนักเรียนแกนนำ 4 ภูมิภาคเพื่อให้นักเรียนได้ใช้ศักยภาพในการต่อยอดขยายผลเรื่องโรงเรียนปลอดบุหรี่ในโอกาสต่าง ๆ ได้พัฒนาชุดสื่อการเรียนรู้เรื่องบุหรี่สำหรับเด็กปฐมวัย ได้แก่ หนังสือนิทานปากไม่ว่าง หนังสือแบบฝึกหัดเสริมสร้างพลังจิตใต้สำนึก CD เพลงชุดอากาศดีดีไม่ต้องมีบุหรี่ และคู่มือการใช้สื่อ และได้จัดอบรมให้แก่ครูจากโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร รวม 178 คน จาก 82 โรงเรียน และได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการจัดทำคู่มือพัฒนานักเรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการสูบบุหรี่ เพื่อให้ครูมีเครื่องมือในการขับเคลื่อนงานภายในโรงเรียนที่เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ได้จัดทำชุดความรู้ต่างๆเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานโรงเรียนปลอดบุหรี่ให้แก่หน่วยงานต่างๆ ดังนี้ หนังสือคู่มือดำเนินงานโรงเรียนปลอดบุหรี่ แผ่น DVD รวบรวมชุดความรู้และสื่อรณรงค์ขับเคลื่อนงานโรงเรียนปลอดบุหรี่ หนังสือคู่มือครูในการให้คำปรึกษาเพื่อช่วยให้นักเรียนเลิกสูบบุหรี่ คลิปวิดีโอการทดลองสารพิษในควันบุหรี่ DVD ประชาสัมพันธ์การขับเคลื่อนงานโรงเรียนปลอดบุหรี่

  • ปี พ.ศ. 2559

    คณะทำงานเครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ในพื้นที่ 12 จังหวัดนำร่องเดิมได้วางแผนร่วมกับหน่วยงานฝ่ายสนับสนุนในพื้นที่เช่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานป้องกันควบคุมโรค เพื่อวางแผนการพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ให้เป็นปลอดบุหรี่ต้นแบบ และได้จัดพัฒนาศักยภาพครู นักเรียน และบุคลากรทางการศึกษาเรื่องแนวทางการดำเนินงานโรงเรียนปลอดบุหรี่ ให้แก่พื้นที่ 4 ภูมิภาค ใน 19 จังหวัดใหม่ ได้แก่ นครนายก นครปฐม ราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี ชัยภูมิ เลย อำนาจเจริญ ศรีษะเกศ บุรีรัมย์ สกลนคร พังงา กระบี่ ตรัง ปัตตานี นราธิวาส แม่ฮ่องสอน เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ เพื่อสร้างโรงเรียนปลอดบุหรี่ต้นแบบให้เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับโรงเรียนข้างเคียงได้ เข้าร่วมเป็นวิทยากรในการลงพื้นที่เตรียมความพร้อมสำหรับขยายผลการดำเนินงานโรงเรียนปลอดบุหรี่ในพื้นที่นำร่องที่รับทุนดำเนินโครงการจังหวัดปลอดบุหรี่ จำนวน 8 จังหวัด ซึ่งจะเป็นพื้นที่ดำเนินการของแผนงานเครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ในปี 2559-2561 และได้ร่วมกับศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. กลุ่มเถื่อนเกม พัฒนาเกมการเรียนรู้เรื่องบุหรี่ประเภท Board gameได้แก่ ชีวิตเลือกได้ Killing smoking bugs เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับครูในการสอนเรื่องบุหรี่ให้สนุกแก่นักเรียน และ Starter pack for Smoke-free school เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับครู ในการอธิบายให้เข้าใจเรื่อง 7 มาตรากรการทำงานโรงเรียนปลอดบุหรี่อย่างง่ายอีกด้วย และสนับสนุนวิทยากรให้แก่หน่วยงานต่างๆ เพื่อเผยแพร่แนวทางการดำเนินงานโรงเรียนปลอดบุหรี่ไปอย่างกว้างขวาง


ปัจจุบัน มีครูจากโรงเรียนต่าง ๆ สนใจเข้าร่วมเป็นเครือข่ายกว่า 4,485 คน โดยได้นำแนวการดำเนินงาน 7 มาตรการเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ นำไปปรับใช้ให้เข้าบริบทของแต่ละโรงเรียน เพื่อปลูกฝังให้นักเรียนมีทัศนคติที่ยืนยันไม่สูบบุหรี่ไปตลอดชีวิต และปกป้องตนเองให้พ้นจากภัยของยาสูบทุกประเภท ซึ่งเครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ยังเดินหน้าสร้างโรงเรียนปลอดบุหรี่ และปลูกฝังค่านิยมการไม่สูบบุหรี่ในสังคมต่อไป